Search

การเมืองสิงคโปร์กำลังจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร เมื่อพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภามากสุดเป็นประวัติการณ์ - thestandard.co

jabaljuba.blogspot.com

รัฐสภาสิงคโปร์สมัยที่ 14 เปิดฉากขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของบรรดาสมาชิกสภาที่เพิ่งได้รับเลือกในศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ถึงแม้พรรคกิจสังคม (People’s Action Party: PAP) ยังคงครองเสียงข้างมากท่วมท้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ภูมิทัศน์การเมืองในรัฐสภาชุดนี้จะไม่เป็นดังเช่นครั้งก่อนๆ เพราะฝ่ายค้านมีที่นั่งในสภามากที่สุดนับตั้งแต่สิงคโปร์เป็นเอกราช และนี่ยังเป็นครั้งแรกที่รัฐสภาสิงคโปร์มีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ได้สร้างเซอร์ไพรส์ย่อมๆ ให้กับประชาชนสิงคโปร์ เมื่อพรรคฝ่ายค้านคว้าที่นั่งได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า โดย 12 ที่นั่งนี้เป็นของพรรคแรงงาน (Workers’ Party: WP) 10 ที่นั่งจากการเอาชนะพรรค PAP ได้ด้วยตัวเองใน 3 เขตเลือกตั้งซึ่งนับเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่พรรคฝ่ายค้านเคยทำได้ และพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (Progress Singapore Party: PSP) 2 ที่นั่งที่ได้รับจัดสรรภายใต้ระบบสมาชิกสภาแบบแต่งตั้งที่ไม่สังกัดเขตเลือกตั้ง (Non-Constituency Member of Parliament: NCMP) ในฐานะผู้แพ้ในซีกพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับสัดส่วนคะแนนในเขตเลือกตั้งมากที่สุด

 

นักวิชาการและสื่อบางสำนักเรียกว่านี่คือรุ่งอรุณของพรรคฝ่ายค้านในสิงคโปร์ จากเดิมที่พรรคเหล่านี้แทบจะไม่มีตัวตนอยู่บนเวทีการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยพรรค PAP มาตลอด แม้ว่าจำนวนที่นั่งจะยังดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับพรรครัฐบาล PAP ที่กวาดไป 83 ที่นั่งจากการแข่งขันทั้งหมด 93 ที่นั่ง แต่ก็ทำให้พรรค PAP ออกอาการหนาวๆ ร้อนๆ ด้วยความหวาดหวั่นว่าวันที่พรรค PAP จะไม่ได้ครอบครองพื้นที่การเมืองเพียงพรรคเดียวกำลังใกล้เข้ามา ตัวเลข 12 ที่นั่งกำลังทำให้พรรคฝ่ายค้านมีอำนาจในสภาสิงคโปร์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และกำลังเปลี่ยนโฉมการเมืองสิงคโปร์จนอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีเซียนลุง ออกมายอมรับถึงผลการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านทำคะแนนได้ดีเกินคาดว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ได้แสดงถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของชาวสิงคโปร์ที่อยากเห็นเวทีการเมืองสิงคโปร์มีแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้น ถึงแม้พวกเขาจะยังอยากให้พรรค PAP จัดตั้งรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการเห็นการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายหรือแผนงานต่างๆ อย่างเข้มข้นขึ้นด้วย” ลีเซียนลุงยังบอกด้วยว่า “เราต้องตอบสนองต่อความต้องการนี้ของประชาชน และต้องพัฒนาระบบการเมืองของเราให้สอดรับกับเสียงเรียกร้อง” 

เริ่มแรกสุด รัฐบาลได้ประกาศแต่งตั้ง พริทาม ซิงห์ เลขาธิการพรรค WP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในสภาให้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน นี่อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าไม่ใช่เพราะว่านี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สภาสิงคโปร์มีผู้นำฝ่ายค้านที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จากที่ก่อนหน้านี้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านเป็นเพียงตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ที่ตั้งกันขึ้นมาเองโดยมักเลือกเอาผู้นำของพรรคฝ่ายค้านที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภา และไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เป็นเรื่องเป็นราว การเดินหน้าแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยลีเซียนลุงถือเป็นการยอมรับโดยนัยว่านับจากนี้ฝ่ายค้านจะมีตัวตนในการเมืองสิงคโปร์อย่างแท้จริง จากที่เคยมีอยู่แบบเงียบๆ มาตั้งแต่ปี 2524 และเป็นสัญญาณของพัฒนาการการเมืองสิงคโปร์ที่กำลังเติบโตขึ้นไปอีกขั้น

พริทาม ซิงห์ เป็นชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดีย ถึงจะยังหนุ่มแน่นในวัย 44 ปี แต่เขาก็ก้าวหน้าในสนามการเมืองสิงคโปร์อย่างรวดเร็ว พริทาม ซิงห์ เข้าเป็นสมาชิกพรรค WP ในปี 2554 ปีเดียวกับที่เขาและทีมผู้สมัครอีก 4 คนจากพรรคเดียวกันเอาชนะพรรค PAP ในเขต Aljunied ในศึกเลือกตั้งทั่วไปได้อย่างน่าตกตะลึง เขาจึงคว้าที่นั่งในสภาได้ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มลงเล่นการเมือง และทำหน้าที่สมาชิกสภาในฝั่งฝ่ายค้านมาต่อเนื่องตั้งแต่นั้น ในปี 2561 พริทาม ซิงห์ ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นเมื่อได้รับไม้ต่อจากโลเถียะเคียงให้เป็นผู้นำพรรค WP คนใหม่ และได้รับหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านแบบไม่เป็นทางการไปโดยปริยาย และล่าสุดเขากำลังจะเติบโตขึ้นไปอีกขั้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ชื่อของ พริทาม ซิงห์ ได้ถูกจารึกว่าเป็นผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการคนแรกของสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อย แต่นั่นก็หมายถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ขึ้น ที่เขาจะต้องแบกรับหลังจากนี้

เมื่อตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ บทบาทหน้าที่ของผู้สวมหัวโขนนี้ก็ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมครั้งแรก โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อหลักๆ 

  1. เป็นผู้นำของสมาชิกสภาฝ่ายค้านในการนำเสนอความคิดเห็นหรือมุมมองทางเลือกในระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบาย ร่างกฎหมาย และญัตติต่างๆ 
  2. เป็นผู้นำในการตรวจสอบฝั่งรัฐบาล
  3. สามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาฝ่ายค้านเข้าสู่คณะกรรมาธิการต่างๆ ได้ ผ่านการได้รับคำปรึกษาจากรัฐสภา
  4. มีส่วนร่วมในหน้าที่อื่นๆ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม พิธีการของรัฐ การเยี่ยมเยียนพบปะของแขกบ้านแขกเมือง และการประชุมต่างๆ ร่วมกับสมาชิกในฝั่งรัฐบาลและข้าราชการ ตามที่ได้รับมอบหมายในบางโอกาส

ใน 4 ข้อนี้ ข้อแรกดูจะเป็นข้อที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด โดยปกติแล้วสมาชิกสภาฝ่ายค้านมักจะลุกขึ้นโต้แย้งฝั่งรัฐบาลกันอยู่แล้ว แต่นับจากนี้ฝ่ายค้านสิงคโปร์ได้ถูกคาดหวังให้พัฒนาขึ้นไปมากกว่านั้นอีก ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ฮาลิมาห์ ยาคอบ ได้กล่าวระหว่างพิธีการเปิดรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “ฝ่ายค้านต้องไปไกลกว่าแค่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลในสภา แต่ต้องสามารถนำเสนอนโยบายทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาอภิปรายได้ด้วย”

การคิดและเสนอนโยบายโดยฝั่งพรรคฝ่ายค้านไม่เคยเกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวนักในสภาสิงคโปร์ เพราะพรรคฝ่ายค้านโดยทั่วไปเจอข้อจำกัดทางทรัพยากร ไม่ว่าจะในแง่เงินทุนหรือบุคลากร จึงยากที่จะผลิตคิดค้นนโยบายขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ ต่างจากพรรครัฐบาล PAP ที่มีทุนหนาคนแน่น ส่วนบทบาทอื่นๆ อย่างการตรวจสอบรัฐบาลก็ทำได้ยากเพราะข้อจำกัดนี้เหมือนกัน 

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ตกลงที่จะจัดสรรทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มให้กับทางผู้นำฝ่ายค้านอย่างที่ไม่เคยมีสภาชุดไหนๆ ทำมาก่อน อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นตำแหน่งที่มีอยู่จริง ดังนั้นในความเป็นจริงสมาชิกสภาที่เคยได้รับการอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านแบบไม่เป็นทางการจึงไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไรที่ต่างจากสมาชิกคนอื่นๆ แต่นับจากนี้เมื่อผู้นำฝ่ายค้านได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้ว เขาจึงได้รับสิทธิประโยชน์ที่ถูกกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายค้านมีกำลังที่จะเสนอนโยบายทางเลือกได้อย่างที่หลายคนคาดหวัง รวมไปถึงตรวจสอบรัฐบาลและอภิปรายถกเถียงในสภาได้อย่างเข้มข้นขึ้น สิทธิประโยชน์เหล่านั้นที่ผู้นำฝ่ายค้านได้รับเป็นครั้งแรก ได้แก่

  1. ได้เป็นสมาชิกสภาคนแรกที่จะได้ตั้งคำถามนำต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย ร่างกฎหมาย และญัตติต่างๆ ในระหว่างการอภิปราย อีกทั้งยังได้รับจัดสรรระยะเวลาอภิปรายในสภานานขึ้นเทียบเท่ากับสมาชิกสภาฝั่งรัฐบาล
  2. ได้รับเอกสารรายงานสรุปลับจากรัฐบาลในประเด็นเฉพาะทางด้านความมั่นคงของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และวิกฤตระดับชาติ ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อมูลพื้นฐานของรัฐบาลต่างๆ ที่สมาชิกสภาทุกคนได้รับสิทธิให้เข้าถึงมาก่อนอยู่แล้ว
  3. ได้รับงบประมาณเพื่อจ้างผู้ช่วยทางด้านนิติบัญญัติได้ไม่เกิน 3 คน เพิ่มเติมจากงบประมาณเดิมในการจ้างผู้ช่วยทางด้านนิติบัญญัติและเลขานุการอย่างละ 1 คนที่สมาชิกสภาทุกคนได้รับมาก่อนอยู่แล้ว นอกจากนี้จะยังได้รับเลขานุการจากรัฐสภาเพื่อช่วยเหลือกิจการงานทั่วไปภายในสภา รวมถึงห้องทำงาน และสามารถใช้ห้องประชุมภายในรัฐสภาได้
  4. ได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากอัตราที่สมาชิกสภาทั่วไปได้รับ โดยจะคิดเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 385,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี (ประมาณ 8,855,000 บาท) 

เมื่อฝ่ายค้านได้รับการติดปีก ในทางกลับกันนั่นแปลว่าฝั่งรัฐบาลจะต้องทำงานกันหนักขึ้น การทำงานในซีกรัฐบาลของสิงคโปร์กำลังมีฝ่ายค้านแทรกตัวเข้ามาเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักมากขึ้นในสมการ เสียงของฝ่ายค้านในสภากำลังจะดังขึ้นโดยที่ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะรับฟังอีกต่อไป แน่นอนว่าการเมืองในสภาสิงคโปร์กำลังจะดุเดือดขึ้นกว่าแต่ก่อน ลีเซียนลุงได้ร่อนจดหมายถึงลูกพรรค PAP ที่ได้เป็นสมาชิกสภาสมัยนี้ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “ด้วยจำนวนสมาชิกฝ่ายค้านที่มากขึ้นและผู้นำฝ่ายค้านที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งแบบเป็นทางการ พวกเราจำเป็นต้องเผชิญกับการตั้งคำถามและการอภิปรายในสภาที่จะเข้มข้นขึ้น” เขาบอกสมาชิกสภาในพรรคเขาเองด้วยว่า “ขอให้เตรียมพร้อมที่จะต้องทำงานร่วมกับฝ่ายค้าน พยายามพิจารณาและทำความเข้าใจในสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านนำเสนอ และอย่าหลบเลี่ยงที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพวกเขา”

จำนวน 12 ที่นั่งของพรรคฝ่ายค้านจากทั้งหมด 93 ที่นั่งที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงจะเพิ่มขึ้นมาจากแต่ก่อน แต่ก็ยังไม่มีพลังมากพอที่จะวีโต้ร่างกฎหมายหรือญัตติต่างๆ แน่นอนว่าฝ่ายค้านสิงคโปร์ยังไม่สามารถไปไกลถึงขั้นตั้งรัฐบาลเงาหรืออาจล้มรัฐบาลได้เหมือนอย่างฝ่ายค้านในประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศ แต่อย่างน้อยความก้าวหน้าของพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ก็ได้ทำให้ฝ่ายค้านมีตัวตน และมีเสียงที่ดังขึ้นจนอาจเริ่มเบียดแทรกพรรครัฐบาล PAP ที่ผูกขาดอำนาจมาตลอด นักวิเคราะห์หลายคนมองว่านี่คือย่างก้าวสำคัญของสิงคโปร์ในการเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าการที่ฝ่ายค้านได้รับบทบาททางการเมืองมากขึ้นนี้ก็อาจเป็นดาบสองคม เพราะนั่นเท่ากับว่าฝ่ายค้านได้เขยิบออกจากซอกหลืบมายืนในที่โล่งแจ้งท่ามกลางสายตาของประชาชนที่กำลังจับจ้อง เมื่อฝ่ายค้านกำลังได้รับความสำคัญและโอกาสแสดงฝีมือมากขึ้น ประชาชนก็ยิ่งเพิ่มความคาดหวังว่าฝ่ายค้านจะมีผลงานเด็ดๆ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้พวกเขาได้เห็น หากฝ่ายค้านทำได้เช่นนั้น โอกาสที่จะได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปก็จะสูงขึ้น พร้อมนำสิงคโปร์เข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบได้ แต่หากสุดท้ายแล้วประชาชนพบว่าฝ่ายค้านสิงคโปร์ไม่ได้มีน้ำยา หนทางสู่สภาในสมัยต่อๆ ไปก็อาจริบหรี่ลง คนสิงคโปร์อาจหันกลับไปเลือกพรรค PAP มากขึ้น และสิงคโปร์ก็คงไม่หลุดพ้นจากพรรคการเมืองพรรคเดียวไปอีกนาน ฝ่ายค้านจะต้องพิสูจน์ความสามารถตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ให้ได้

นี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประชาธิปไตยในสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้เปิดประตูให้แล้วบานหนึ่ง แต่สุดท้ายศักยภาพของฝ่ายค้านสิงคโปร์เองคือตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่าการเมืองของประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้จะเดินเข้าสู่ประตูนั้นได้หรือไม่      

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

Let's block ads! (Why?)



"อย่างไร" - Google News
August 27, 2020 at 06:29AM
https://ift.tt/3hBuhSn

การเมืองสิงคโปร์กำลังจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร เมื่อพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภามากสุดเป็นประวัติการณ์ - thestandard.co
"อย่างไร" - Google News
https://ift.tt/3ctjMND


Bagikan Berita Ini

0 Response to "การเมืองสิงคโปร์กำลังจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร เมื่อพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภามากสุดเป็นประวัติการณ์ - thestandard.co"

Post a Comment

Powered by Blogger.