Search

“ภูเก็ตโมเดล” กับความต้องการของคนในพื้นที่ “ทำอย่างไรให้ปลอดภัย” - ผู้จัดการออนไลน์

jabaljuba.blogspot.com
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - คนภูเก็ตเสียงแตก หลังรัฐมนตรีท่องเที่ยว ระบุ ‘ภูเก็ตโมเดล’ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ กำหนดพื้นที่ให้ท่องเที่ยวแบบจำกัด รัศมี 1 กิโลเมตร ระบุต้องเกิดจากความคิดคนภูเก็ต ภายใต้มาตรการทำอย่างไรให้ปลอดภัย ระบุรับต่างชาติเข้ามายังต้องหาจุดจบ

จากกรณี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึง ‘ภูเก็ตโมเดล’ ว่า จะเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่กำหนดพื้นที่ให้ท่องเที่ยวแบบจำกัด สมมติเป็นหาดป่าตองสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียง จะปิดพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่เป็นเวลา 14 วัน เมื่ออยู่ครบจะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 (swab test หรือการตรวจสวอป) ถ้าผลไม่พบเชื้อนักท่องเที่ยวคนนั้นจะสามารถออกจากพื้นที่จำกัดท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นภายในจังหวัดภูเก็ตได้

แต่หากต้องการจะเดินทางไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย ต้องอยู่ในสถานที่จำกัดอีก 7 วันรวมเป็น 21 วัน และจะมีการตรวจสวอปอีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้ออกไปท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ได้ ดังนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องตรวจสวอป 3 ครั้ง ถ้าต้องการไปจังหวัดอื่นนอกจากภูเก็ต แต่ถ้าอยู่ท่องเที่ยวเฉพาะในภูเก็ตก็จะตรวจ 2 ครั้ง ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดแล้ว เจ้าหน้าที่โรงแรม เจ้าหน้าที่ร้านอาหารทุกคนต้องห้ามออกนอกพื้นที่ตลอดเวลาที่อยู่กับนักท่องเที่ยวและเข้าตรวจสวอปเช่นกันเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการแชร์แนวคิดดังกล่าวออกไป ได้สร้างความแตกตื่นให้แก่คนในจังหวัดภูเก็ตเป็นวงกว้างทั้งในสังคมโซเชียล และกลุ่มต่างๆ รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิด โดยเฉพาะความพร้อมของหน่วยงานราชการ และการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับคนในพื้นที่ รวมทั้งไม่เป็นไปตามที่ทางจังหวัดเคยหารือร่วมกับทาง ศบค. ขณะที่ในส่วนของชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยเพราะกังวลในเรื่องของความปลอดภัย

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต
นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่ออธิบายข้อเท็จจริง 2 ด้าน โดยระบุว่า “เพื่อนในวงการท่องเที่ยวหลายคนแจ้งมาว่า ข่าวที่ภูเก็ตจะรับชาวต่างชาติได้สร้างความไม่มั่นใจให้ตลาดคนไทย โดยเฉพาะจากคนกรุงเทพฯ!!!!! ผมได้แต่ขมวดคิ้ว...ถามกลับไปว่า เค้ากลัวอะไร? คำตอบคือ..เค้ากลัวคนต่างชาติมากักตัวที่ภูเก็ตแล้วจะแพร่เชื้อ ผมได้แต่อธิบายว่า คนที่เค้ากลัวเค้ารู้ไหม? ว่าที่กรุงเทพฯ มีโรงแรมที่ทางกระทรวงสาธารณสุขขึ้นทะเบียนให้เป็นทางเลือกของคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรือให้คนต่างชาติใน 11 กลุ่มตาม ศบค.กำหนดไว้อยู่ตั้ง 22 แห่ง รวมเป็นพันๆห้อง ลองไปดูรายชื่อได้ในเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด ทำกันมานานหลายเดือนเต็มที ยังอยู่ปกติกันดีไม่ใช่เหรอ?

คนที่เค้ากลัวเค้ารู้ไหม? คนไทยกลับมาจากต่างชาติแล้วร่วมๆ เกือบแปดหมื่นคน ในนั้นมีสี่ร้อยคนที่ตรวจพบโควิด คิดเป็น 0.6% และ ในระหว่าง 14-15 วัน ที่กักตัวนั้น มีการตรวจหาเชื้อโดยการ Swab 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 5 และในวันที่ 10 รวมทั้งการประเมินอาการในวันสุดท้ายก่อนได้รับการอนุญาตให้ออกจากที่กักกันตัว เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม ส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตปกติที่กรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟฟ้า ไปเดินห้าง ไปตลาดนัด ด้วย mask ประจำตัว ทำกันมานานหลายเดือนเต็มที ยังอยู่ปกติกันดีไม่ใช่เหรอ?

คนที่เค้ากลัวเค้ารู้ไหม? ภูเก็ตยังไม่ได้รับคนต่างชาติแบบที่เป็นข่าว เป็นการหารือกัน เป็นความพยายามสร้างสมดุลกันให้ได้ระหว่างการควบคุมการระบาด และการเดินต่อไปให้ได้ทางเศรษฐกิจ และท่าจะรับจริงๆ ก็ต้องเข้มข้นกว่าการรับคนไทยกลับประเทศ

คนที่เค้ากลัวเค้ารู้ไหม? หากภูเก็ตจะเปิดรับจริงๆ เราจะเปิดรับแบบมีเงื่อนไขเท่านั้น เงื่อนไขเหล่านั้นกำลังศึกษาหาทางกัน แต่ไม่ได้เปิดประตูกว้างแบบรับใครก็ได้ แต่เลือกเป็นประเทศ

เพื่อนผมถามทันควันว่า เลือกจากไหน ผมตอบทันทีว่า เลือกจากอันดับใน GCI : Global Covid Index https://ift.tt/2XyvrGN ผมคะยั้นคะยอให้เข้าไปเปิดดู ไปทำความเข้าใจ หากภูเก็ตจะเปิดก็เปิดให้บางประเทศที่ Recovery Rating ดี และ Severity Rating ต่ำ ลืมอเมริกา ลืมบราซิล เว้นอินเดียและอีกหลายประเทศไปก่อน

เพื่อนถามว่าแล้วอะไรอีก?? ผมตอบเพิ่มเติมว่า เท่าที่มีข้อมูลว่าหากภูเก็ตจะรับ จะต้องตรวจหาเชื้อที่สนามบินเป็น Rapid PCR Test ใครเดินทางมา ต้องรอที่สนามบินอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อรอผล หากผลเป็นลบถึงจะเดินทางไปกักตัวที่โรงแรมที่ระบุมาได้ แต่ใครเป็นบวก เชิญเข้าไปที่โรงพยาบาล ไปรักษาตัวให้หายซะก่อน

เพื่อนถามย้ำว่า แปลว่าต่างชาติที่มาต้องกักตัวก่อนเท่านั้นใช่ไหม? ผมตอบทันควัน ใช่สิ!!! ทำแบบที่กรุงเทพฯ ทำ แล้วคนกรุงเทพฯ จะมากลัวอะไร???? เพื่อนแย้งว่า เห็นในข่าวว่า หากต่างชาติมากักตัวภูเก็ต ห้ามคนภูเก็ตไปไหนมาไหน ผมตอบว่า ผมอ่านไม่เจอประโยคนี้ แต่หากเป็นจริง มันก็ไม่แฟร์ เลยที่จะมาให้คนภูเก็ตห้ามไปไหนต่อไหน ก็ในเมื่อคนกรุงเทพฯ ยังเดินทางไปไหนต่อไหนได้ปกติ

เพื่อนถามต่อว่า แปลว่าหากพ้น 14-15 วันแล้ว ไม่มีเชื้อ คนคนนั้นจะเดินทางไปไหนก็ได้ใช่ไหม?? ผมตอบแบบสบายใจว่า แล้วจะห้ามเขาด้วยเหตุผลอะไร? แล้วกรุงเทพฯ ห้ามไหม?

เพื่อนถามถึง ภูเก็ตโมเดลว่าคืออะไร ผมตอบไปว่า เป็นการสร้างรูปแบบที่ประสานสมดุลการควบคุมการระบาดและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ภูเก็ตเจอโจทย์ยากมาก ในฝั่งที่พี่น้องคลายกังวลเรื่องการระบาด แต่ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำยังไงทั้งสองขาถึงไปต่อได้...ผู้คนพอมีงานทำ กำลังซื้อพอมีบ้าง ร้านขายของพออยู่ได้ พ่อแม่มีเงินให้ลูกไปเรียนหนังสือบ้าง แต่ยังไงๆ การระบาดก็ต้องควบคุมได้ เราเลือกสมดุลได้ไหม แทนที่จะต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง เรื่องแบบนี้ไม่มีตำราเขียน มันเลยเป็นการจำลองสถานการณ์ จำลองฉากทัศน์ เรียนรู้จากข้อมูลจริง เอาจินตนาการออกไปใช้งานสร้างสรรค์อื่น เอาข้อมูลที่เกิดขึ้นทั่วโลกมากาง มาคลี่ดูกัน

travel bubble มันเป็นไปไม่ได้ไปแล้ว เลิกพูดไปเลย!!! ผมย้ำเพื่อนไปว่า ผมพูดเท่าที่ผมรู้ ตอบเท่าที่มีข้อมูล แต่เรากำลังเจอกับดักใหญ่ จะหลุดจากกับดักนี้ไปได้ ต้องอาศัยความสามัคคีของคนภูเก็ตเท่านั้น เราเป็นเหมือนคนครอบครัวเดียวกัน ถ้าจะไปทางไหนก็ไปด้วยกัน จะรอดก็รอดด้วยกัน จะตายก็ตายด้วยกัน...

ย้อนกลับไปบรรพชนเรา เสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน โต้คลื่นโต้ลม สวดอ้อนวอนให้เทวดาฟ้าดินเมตตา จนก่อร่างสร้างตัวมา ดูแลลูกหลานจนมาถึงรุ่นเรา วันนี้มีหน้าที่มีภารกิจก็ทำไปให้ดีที่สุด...เอาเรื่องส่วนรวมเป็นที่ตั้ง รวบรวมพลังคนบ้านเดียวกันให้ได้ วิกฤตจากข้างนอกย่อมเป็นเรื่องเล็กหากคนข้างในรวมตัวกันใช้สติปัญญา

อยากจะปิดท้ายว่าคนกรุงเทพฯ ที่กังวลเรื่องภูเก็ต ไม่ต้องห่วงนะครับ ภูเก็ตปลอดภัยมาก ยังไม่รับใครๆ จากต่างชาติ ทั้งจากคนไทยเอง และคนต่างชาติ ไม่ว่าชาติใดๆ ส่วนเรื่องจะรับต่างชาติหรือไม่แบบใด เป็นเรื่องอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดใกล้ๆ ยังต้องคุยอีกมาก ถกกันอีกเยอะ...ที่สำคัญหากเราจะทำ เราก็ทำแบบที่ใน กทม.ทำ แล้วท่านจะกังวลอะไรครับ?”

นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง
ขณะที่ น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า สำหรับ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นการนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยว นอกจากจะมีการกำหนดประเทศที่มีการความเสี่ยงต่ำแล้ว ยังจะต้องมีใบรับรองการตรวจโควิด-19 ตั้งแต่ประเทศต้นทาง และเมื่อมาถึงบ้านเราก็จะต้องมีการตรวจอีกครั้งที่สนามบิน เพื่อให้เกิดความมั่นใจสูงสุด เพราะเข้าใจว่าทุกคนมีความกังวลเช่นกัน หากพบว่าพบปกติก็ให้เข้าพักในโรงแรมที่กำหนด ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นโรงแรมไหนก็ได้โดยต้องเป็นโรงแรมที่มีการรับรองโดยสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว และต้องมีการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

ในระหว่างนั้นก็ต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วย เมื่อครบ 14 วันแล้วไม่มีปัญหาก็สามารถท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้ตามปกติ หากดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ก็จะทำให้คนภูเก็ตมีความอุ่นใจได้ว่า เมื่อเราเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วจะไม่มีการแพร่เชื้อให้แก่คนในพื้นที่อย่างแน่นอน แต่สมมติว่า มีการพบติดเชื้อภายหลัง เราก็มีโรงพยาบาลพร้อมที่จะทำการรักษาทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ซึ่งมีเตียงไอซียูรวมแล้วประมาณ 150 เตียง หากเราสามารถควบคุมได้ และทยอยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาตามกำลังที่รองรับได้ก็จะสามารถดูแลได้ บนพื้นฐานที่ไม่ได้ไปเบียดบังการดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ เนื่องจากเราจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าไป

อย่างไรก็ตาม จากแนวคิด “ภูเก็ตโมเดล” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำเสนอนั้น น.ส.เฉลิมลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดที่ชัดเจน แต่คิดว่าท่านรัฐมนตรีมีเจตนาที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาคนภูเก็ตได้มีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และมีการสะท้อนปัญหาไปตามสื่อต่างๆ ซึ่งท่านคงตระหนักแล้วว่า การจะให้ธุรกิจภูเก็ตเดินไปได้นั้นจะต้องมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา ด้วยความหวังดีจึงได้มีการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแนวทางที่คนภูเก็ตร่วมกันคิดไว้ ซึ่งคงต้องหาเวลาในการพูดคุยให้เข้าใจตรงกัน เพื่อจะได้มาช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต
ด้าน นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงแนวคิด “ภูเก็ตโมเดล” ว่า ควรจะเกิดจากแนวคิดของทีมภูเก็ต ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรี และเลขา สบค. ทั้งนี้จากที่มีการพูดคุยกันของทีมภูเก็ตได้ข้อสรุป ว่า ไม่รีบที่จะเปิดเมือง แต่จะทำให้ปลอดภัยโดยการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจะต้องมีการคลอรันทีน (กักตัว) และล็อกพื้นที่เป็นเวลา 14 วัน รวมถึงในห้วงดังกล่าวจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ 2-3 ครั้ง จากนั้นจึงอนุญาตให้เกิดทางท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้

“แนวคิดของทีมภูเก็ต คือ ทำอย่างไรให้ภูเก็ตปลอดภัย และคิดว่าทาง รมว.การท่องเที่ยวจะนำแนวคิดของทีมภูเก็ตไปใช้ เพราะท่านได้ให้ความสำคัญกับทีมภูเก็ตว่าคิดอย่างไร และมั่นใจว่าทีมภูเก็ตป้องกันการเกิดปัญหาของโรคอย่างตั้งใจ เพราะทั้งภาครัฐเอกชนและภาครัฐเราไม่เร่งรีบจะเปิดเมือง ยืนยันว่าจะต้องปลอดภัย”

นายธนูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากจะมีการเปิดนำร่องในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เรามีความพร้อม ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ตได้มีการประชุมร่วมกันแล้ว รวมถึงสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและโรงพยาบาลของรับและเอกชน ต้องใช้คำว่าภูเก็ตพร้อม และต้องประสานงานกับทีมของท่าอากาศยานภูเก็ต

ทั้งนี้แนวคิดสำคัญคือ จะต้องมีการกักตัวหรือเราเรียกว่าพักร้อนในพื้นที่จำกัดเป็นเวลา 14 วัน หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหากมีการตรวจสอบแล้วไม่พบเชื้อ รวมทั้งจะต้องมีการซื้อประกันภัยด้วย ส่วนของโรงแรมที่พักสำหรับการคลอรันทีนมั่นใจว่า ในเดือนตุลาคมนี้จะมีเพียงพอ โดยจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ห้อง และมีให้เลือกในระดับราคาที่หลากหลายตั้งแต่ 3-5 ดาว

Let's block ads! (Why?)



"อย่างไร" - Google News
August 27, 2020 at 12:27PM
https://ift.tt/34EyD7Q

“ภูเก็ตโมเดล” กับความต้องการของคนในพื้นที่ “ทำอย่างไรให้ปลอดภัย” - ผู้จัดการออนไลน์
"อย่างไร" - Google News
https://ift.tt/3ctjMND


Bagikan Berita Ini

0 Response to "“ภูเก็ตโมเดล” กับความต้องการของคนในพื้นที่ “ทำอย่างไรให้ปลอดภัย” - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.