คัดสรรประกันสุขภาพอย่างไร ให้อุ่นใจหลังวัยเกษียณ
วันที่ 28 ส.ค. 2563 เวลา 07:21 น.
คอลัมน์ I wish you wealth โดย...ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT? Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา ยอดขายประกันโควิดที่ถล่มทลายกว่า 8 ล้านกรมธรรม์นั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วคนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของประกันสุขภาพเป็นอย่างดี เพียงแต่เราอาจจะต้องการมันเฉพาะในช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่ากำลังมีความเสี่ยงสูงสุด แต่หากวันหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วและคนรู้สึกถึงความเสี่ยงที่ลดน้อยลง ก็มีโอกาสที่จะเห็นยอดการต่ออายุประกันชนิดนี้ลดลงเช่นเดียวกัน แต่นั่นหมายความว่า การวางแผนประกันสุขภาพมีความสำคัญที่ลดลงหรือไม่?
คำตอบก็คือว่า แม้ว่าความเสี่ยงของโรคติดต่ออย่าง COVID-19 จะลดลงไป แต่ความเสี่ยงของการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ จะยังคงอยู่คู่กับชีวิตเราเหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs (Non-communicable Diseases) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ
สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) บ่งชี้ว่า กลุ่มโรค NCDs เหล่านี้ แท้จริงแล้วเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่กว่า COVID-19 มาก เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ในประเทศไทยเอง โรค NCDs ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการป่วยเป็นโรค NCDs มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมดหรืออาจกล่าวได้ว่า ทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนไทย 37 รายที่ต้องเสียชีวิตลงจากการป่วยเป็นโรค NCDs สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมาและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
โดยทั่วไปแล้ว ความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคกลุ่ม NCDs นั้นมักจะแปรผันตามอายุที่มากขึ้นและมากที่สุดในวัยหลังเกษียณ ซึ่งมักเป็นช่วงชีวิตที่คนส่วนใหญ่ขาดรายได้ เนื่องจากว่าความเสี่ยงเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น การทำประกันสุขภาพจึงเป็นวิธีการปิดความเสี่ยงเหล่านี้ที่ง่ายที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำและเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลให้ประสบความสำเร็จ
แน่นอนว่า ในการคัดสรรประกันสุขภาพให้มีความคุ้มค่าและเหมาะสมกับตัวเราในระยะยาวถึงวัยเกษียณ การพิจารณาและเปรียบเทียบผลประโยชน์ความคุ้มครอง ที่ได้รับจากแต่ละกรมธรรม์ประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งการพิจารณาวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันหากเราต้องการคุณภาพการรักษาพยาบาลในระดับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ วงเงินความคุ้มครองต่อปีขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาท เพื่อครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง รวมถึงวงเงินค่าห้องขั้นต่ำควรอยู่ที่ 8,000 - 10,000 บาทขึ้นไป หรือในกรณีของผู้ที่มีรายได้ประจำ ที่มักจะได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทต้นสังกัดอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะประหยัดเบี้ยประกันได้ด้วยการเลือกแบบประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขของความรับผิดส่วนแรก (Deductible) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเอง ก่อนที่จะได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการคัดสรรประกันสุขภาพที่หลายคนอาจมองข้ามไป ก็คือ เงื่อนไขการต่ออายุการรับประกัน โดยปกติแล้ว การทำประกันสุขภาพส่วนใหญ่มักจะเป็นสัญญาแบบปีต่อปี ดังนั้นทุกๆ ปีที่ผ่านไป ผู้เอาประกันจึงมีความเสี่ยงเสมอที่จะถูกบริษัทประกันปฏิเสธการต่ออายุกรมธรรม์ ยกตัวอย่างเช่น หากเราเกิดป่วยเป็นโรคร้ายแรงและได้มีการเคลมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลไปบ่อยครั้งหรือเต็มวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่กรมธรรม์กำหนดไว้ ในปีถัดมา บริษัทประกันมีสิทธิที่จะปฏิเสธการต่ออายุกรมธรรม์ประกันสุขภาพเราได้ ซึ่งจะส่งผลให้เราขาดความคุ้มครองด้านสุขภาพลงในทันทีและมีความยากลำบากในการทำประกันสุขภาพฉบับใหม่ หรือแม้ว่าจะสามารถทำประกันสุขภาพฉบับใหม่ได้ ก็จะถูกปรับเพิ่มเบี้ยประกันและถูกยกเว้นความคุ้มครองสำหรับโรคที่ผู้เอาประกันได้มีประวัติการเจ็บป่วยมาก่อนหน้านี้
ยิ่งไปกว่านั้น หากเราถูกปฏิเสธการต่ออายุการรับประกันในช่วงหลังเกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่มีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดคือ ค่ารักษาพยาบาล นั่นก็เท่ากับว่า การวางแผนประกันสุขภาพของเราที่ผ่านมา อาจจะเรียกได้ว่าล้มเหลวและไม่สามารถแบ่งเบาภาระทางการเงินให้กับเราได้ในช่วงเวลาที่เราต้องการมันมากที่สุด ฉะนั้น การวางแผนซื้อประกันสุขภาพจำเป็นจะต้องมีการการันตีต่ออายุการรับประกัน เพื่อที่จะช่วยให้การวางแผน Health Protection ของเรารัดกุม มีประสิทธิภาพและเป็นหลักประกันที่มั่นคงอย่างแท้จริงให้กับผู้เอาประกันในระยะยาว
ประเด็นสำคัญที่หลายคนเข้าใจผิดก็คือ ต้องซื้อประกันสุขภาพพ่วงกับประกันชีวิตเท่านั้น จึงจะได้รับการการันตีต่ออายุการรับประกัน ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากบริษัทประกันยังคงมีสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาพ่วงได้ ดังนั้น สำหรับคนที่มีความคุ้มครองจากประกันชีวิตเพียงพอแล้วหรือไม่มีความประสงค์จะทำประกันชีวิตตั้งแต่แรก การซื้อประกันสุขภาพในลักษณะที่เป็นกรมธรรม์เดี่ยว จะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายเบี้ยประกันและมีความคุ้มค่ามากกว่าการซื้อประกันแบบพ่วง ทำให้ผู้เอาประกันสามารถเลือกรูปแบบความคุ้มครองสุขภาพได้ตรงกับความต้องการ
อีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้เอาประกันจำเป็นต้องพิจารณาและเปรียบเทียบ ก็คือ เบี้ยประกันในช่วงหลังเกษียณอายุ เพื่อประเมินความสามารถในการชำระเบี้ยประกันสุขภาพในระยะยาวของตนเอง เนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพในช่วงหลังเกษียณมักจะถูกปรับขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดด สอดคล้องไปกับความเสี่ยงในการเจ็บป่วยของคนเราที่สูงขึ้น และนั่นอาจเป็นเหตุให้เบี้ยประกันสุขภาพที่สูงเกินไป กลับกลายเป็นภาระทางการเงินแทนที่จะเป็นตัวช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเจ็บป่วยโดยไม่คาดคิด
จากการสำรวจแบบประกันสุขภาพทั่วไปในตลาดพบว่า เบี้ยประกันสุขภาพในช่วงหลังเกษียณ (ช่วงอายุ 55 - 80 ปี) ของแต่ละกรมธรรม์ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เบี้ยประกันของกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองราว 3 ล้านบาทต่อปี กรมธรรม์ A มีค่าเบี้ยประกันรวมในช่วงหลังเกษียณประมาณ 1.7 ล้านบาท ในขณะที่ กรมธรรม์ B มีค่าเบี้ยรวมในช่วงหลังเกษียณสูงถึง 5 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ากรมธรรม์ประกันสุขภาพทั้งสองมีค่าเบี้ยประกันที่ต่างกันมากถึง 3.3 ล้านบาทหรือคิดเป็นส่วนต่างถึง 2.7 เท่า
ซึ่งอย่าลืมว่าในช่วงเกษียณอายุ คนส่วนใหญ่อาจไม่มีรายได้เลย การประหยัดรายจ่ายหลักหลายล้านบาทที่ไม่จำเป็น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ดังนั้น หากปัจจัยอื่นๆ มีความใกล้เคียงกันแล้ว การพิจารณาเลือกกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่มีเบี้ยประกันในช่วงหลังเกษียณที่ไม่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด นับว่าเป็นตัวเลือกที่มีความคุ้มค่าและช่วยให้เราสามารถบรรลุแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณได้ตามที่คาดหวัง
จะเห็นว่า การการันตีต่ออายุการรับประกันและค่าเบี้ยประกันในช่วงหลังเกษียณเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ทำประกันสุขภาพทุกคนจะละเลยไม่ได้ในการคัดเลือกประกันสุขภาพ หากการวางแผน Health Protection ของเรามีความครอบคลุม คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ นั่นก็หมายถึงว่า เราได้ขยับเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินไปอีกหนึ่งก้าวแล้วเช่นเดียวกัน
"อย่างไร" - Google News
August 28, 2020 at 07:28AM
https://ift.tt/32vtk7T
คัดสรรประกันสุขภาพอย่างไร ให้อุ่นใจหลังวัยเกษียณ - โพสต์ทูเดย์
"อย่างไร" - Google News
https://ift.tt/3ctjMND
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คัดสรรประกันสุขภาพอย่างไร ให้อุ่นใจหลังวัยเกษียณ - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment