หลังจากได้ข่าวเรื่องการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ "ต้าร์" ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา "เฮดเอค สเตนซิล" ศิลปินพ่นสีใช้เวลาหาข้อมูลเกี่ยวกับชายหนุ่มรุ่นเดียวกับเขาอยู่หนึ่งวัน แล้วจึงออกไปพ่นสีเป็นรูปใบหน้าของวันเฉลิมบนกำแพงริมถนนสุขุมวิท พร้อมด้วยข้อความสีแดงว่า "Dead or Alive. We are human" -- "ตายหรือเป็น...เราก็เป็นคน"
ไม่กี่ชั่วโมงผ่านไป ใบหน้าของวันเฉลิมที่เขาพ่นไว้ก็ถูกลบไป เช่นเดียวกับภาพพ่นสีอื่น ๆ ที่เขาเคยฝากผลงานไว้ตามริมถนนของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเสือดำ ใบหน้าและนาฬิกาของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือภาพ "โจร 500" และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สองเดือนที่ผ่านมา เขาพ่นสีเป็นรูปใบหน้าของวันเฉลิมอีกหลายครั้ง โดยไม่สนใจว่าจะถูกลบหรือไม่
"ผมเลือกภาพของต้าร์ที่ดูยิ้มแย้มที่สุด เพราะในความรู้สึกของผม การที่ต้าร์ถูกทำให้หายไปมันไม่ใช่จุดจบหรือความพ่ายแพ้ของต้าร์ แต่เป็นจุดเริ่มต้นชัยชนะของประชาชน คุณพลาดแล้วที่มาทำเรื่องแบบนี้ในตอนนี้ เพราะมันไม่ใช่ยุคสมัยที่คุณมีอำนาจล้นฟ้าแล้วจะอุ้มใครก็ได้" ศิลปินวัย 38 ปี บอกกับบีบีซีไทย โดยขอไม่เปิดเผยชื่อและนามสกุลเนื่องจากไม่ต้องการให้งานด้านศิลปะการเมืองของเขากระทบกับบุคคลในครอบครัว
"ดู-ดาย Do or Die"
เฮดเอค สเตนซิล เคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านงานศิลปะหรือที่เขาเรียกว่า "ศิลปะการเมือง" มาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาลาออกจากงานประจำในตำแหน่งครีเอทีฟที่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งมาใช้ชีวิตเป็นศิลปินอิสระที่ จ.เชียงใหม่
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เฮดเอค สเตนซิล ซึ่งเรียนจบด้านศิลปะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝากผลงานศิลปะพ่นสี ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาถนัดที่สุด ไว้บนกำแพง สะพานลอยและริมถนนมาหลายครั้ง สร้างกระแสในสังคมมาแล้วหลายหน
"งานศิลปะของผมอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรขนาดนั้น แต่มันเป็นเหมือนการเอาน้ำมันราดลงบนไฟหรือมีบทบาทในการช่วยส่งออกข้อมูลข่าวสารที่ถูกปิดกั้นมากกว่า" เฮดเอค สเตนซิล กล่าวกับบีบีซีไทยในงานนิทรรศการศิลปะของเขาที่ชื่อ "ดู-ดาย Do or Die" จัดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-28 ส.ค.
งานศิลปะที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้มีทั้งหมด 16 ภาพ แต่จัดแสดงครั้งละ 8 ภาพ โดยจะนำภาพมาเปลี่ยนสัปดาห์ละ 2 ภาพ เขาเปิดเผยว่าเหตุที่ต้องทยอยนำภาพมาแสดงนั้นเป็นเพราะบางภาพล่อแหลมจน "อาจทำให้โดนปิดงานตั้งแต่วันเปิด"
รอยยิ้มของวันเฉลิม
หนึ่งในภาพที่ถูกนำมาจัดแสดงตั้งแต่วันแรกคือภาพของวันเฉลิม ซึ่งหายตัวไปครบ 2 เดือนเต็มเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.)
ภาพศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวของวันเฉลิมที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นในครั้งนี้มีชื่อว่า "#savewanchalerm, 2020" ซึ่งแตกต่างไปจากภาพพ่นสีตามถนนที่เขาเคยทำมา
วลี "Dead or alive" สีแดงที่เคยใช้ถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า "Approved" สีดำ ครึ่งบนของใบหน้าวันเฉลิมถูกปิดทับด้วยเทปกาวสีขาว เหลือให้เห็นเพียงรอยยิ้มสดใสด้านล่าง
เฮดเอค สเตนซิลอธิบายว่าเทปกาวสีขาวนั้นเปรียบเสมือนผ้าพันห่อศพ เพราะเขาเชื่อว่าวันเฉลิมไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ส่วนคำว่า Approved นั้นสื่อถึงการที่ผู้มีอำนาจ "approve (อนุมัติ) ให้อุ้มคนนี้ approve ให้เก็บคนนี้ สั่งการให้คนนี้หายไป"
"ผมจงใจเลือกภาพที่เขายิ้ม...เพราะว่าคุณทำให้วันเฉลิมหายไปแต่กลายเป็นว่าคนรู้จักเขาและการต่อสู้ของเขาเยอะกว่าเดิมอีก มันคือรอยยิ้มแห่งชัยชนะ แต่น่าเสียใจที่เขาไม่ได้อยู่เห็นชัยชนะนี้" เฮดเอค สเตนซิลกล่าว
ภาพที่เขานำมาใช้ในการทำงานศิลปะได้รับอนุญาตจากครอบครัวของวันเฉลิมแล้ว
เฮดเอค สเตนซิล ยืนยันจะผลิตผลงานด้านศิลปะการเมืองต่อไป แม้เส้นทางนี้จะทำให้เขาถูกชายที่คาดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามหรืออาจถูกดำเนินคดี เพราะเชื่อว่างานศิลปะของเขาจะช่วยสื่อสารในประเด็นที่สื่อกระแสหลักเลือกที่จะไม่นำเสนอหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง
ก่อนสร้างงานแต่ละชิ้น เฮดเอค สเตนซิลบอกว่าเขาจะศึกษาข้อมูลในประเด็นนั้น ๆ อย่างดีเสียก่อน "เพราะเรื่องที่เราทำมันเป็นเรื่องเซ็นสิทีฟ (อ่อนไหว) เราจะเอาอารมณ์มาเกี่ยวข้องอย่างเดียวไม่ได้"
หลังจากเสร็จงานนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ เฮดเอค สเตนซิลบอกว่าเขามีแผนจะเดินทางไปลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา
"ผมสนใจเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีเวลาหาข้อมูล ไว้ผมลงพื้นที่ศึกษาปัญหาก่อนแล้วผมจะทำ (งานศิลปะ) เพื่อสื่อสารเรื่องของจะนะ"
"อย่างไร" - Google News
August 05, 2020 at 01:00PM
https://ift.tt/2DAcgVo
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกนำเสนออย่างไรในนิทรรศการศิลปะการเมืองของ "เฮดเอค สเตนซิล" - บีบีซีไทย
"อย่างไร" - Google News
https://ift.tt/3ctjMND
Bagikan Berita Ini
0 Response to "วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกนำเสนออย่างไรในนิทรรศการศิลปะการเมืองของ "เฮดเอค สเตนซิล" - บีบีซีไทย"
Post a Comment