เศรษฐกิจอย่างนี้จะลงทุนอย่างไร
วันที่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 07:17 น.
คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง โดย...วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
เศรษฐกิจโลกปีนี้
IMF คาดการณ์ใหม่ในเดือน มิ.ย.ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง -4.9% ในปีนี้ ลดลงจากจากคาดการณ์เดิมในเดือน เม.ย.ที่ว่าจะหดตัวลง -3.0% และลดตัวเลขคาดการณ์ในปีหน้าสู่ระดับ +5.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือน เม.ย.ว่าจะขยายตัว +5.8% โดยคาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มพัฒนาแล้ว (Advance Economies) จะหดตัว -8.0% และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Economies) จะหดตัว -3.0% และคาดว่าไทยจะหดตัวลง -7.7% ในปีนี้ ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ IMF ได้ระบุว่าการใช้มาตรการกระตุ้นทั้งด้านการเงินและการคลังอย่างเต็มที่ในหลายประเทศได้ช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงไปกว่านี้ โดยเฉพาะมาตรการที่พยุงการจ้างงาน และการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะที่นโยบายการเงินจะผ่อนคลายไปตลอดจนถึงสิ้่นปีหน้า
ผลก็คือการผ่อนคลายทางการเงินอย่างสุดโต่งนี้ได้ส่งผลบวกให้กับ Financial Markets ทั้งที่ภาพเศรษฐกิจดูไม่ดีเลย และได้เตือนว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศจะทรุดตัวลงอย่างหนักจากการออกมาตรการลดทอนผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และหนี้สาธารณะต่อ GDP ของโลกก็จะพุ่งขึ้นแรงจนทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 101.5% ในปีนี้ ในขณะที่เป็น 82.8% ในปีก่อน
กองทุนบัวหลวงมองภาพเศรฐกิจไทยอย่างไร
เราได้ปรับประมาณการ GDP ไทยในปีนี้จากเดิม -5.2% ลดลงเป็น -8.0% (สมัยต้มยำกุ้งหดตัว -7.6%) เนื่องด้วย COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในมุมกว้าง อันเนื่องมาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่
1. หลายประเทศทั่วโลกปิดน่านฟ้าและน่านน้ำ ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหยุดชะงัก ทำให้ออเดอร์สินค้าส่งออกหดตัว และขาดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา
2. กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศหดตัวทั้งส่วนของการบริโภค เนื่องด้วยการจ้างงานและรายได้ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง และหดตัวจากการลงทุน เพราะธุรกิจเอกชนชะลอการลงทุน
3. เครื่องจักรเดียวที่ยังขยายตัวอยู่คือการบริโภคภาครัฐ โดยรัฐบาลพยายามจะประคองเศรษฐกิจผ่านการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 3 ระยะ เป็นเม็ดเงินกว่า 10% ของ GDP ขณะที่นโยบายการเงินก็อยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจประคองตัวต่อไปได้ โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา ธปท. ได้ใช้นโยบายทั้งที่เป็นดอกเบี้ยและที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งสถาบันการเงิน ธุรกิจ ตลาดทุน และประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ เราคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อรัฐบาลทยอยปลดล็อกให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงกับปกติ ซึ่งหากไม่มีการแพร่ระบาดรอบสองและรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ปีนี้ GDP ไทยคงจะหดตัว -8.0% แต่เราคาดหวังในเชิงบวกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมา 6.5% ในปีหน้า โดยมีปัจจัยที่อาจทำให้คลาดเคลื่อน ได้แก่
1. ความสามารถในการควบคุม COVID-19
2. ภาระหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ (เป็นตัวกำหนดการใช้จ่ายภายในประเทศ)
3. ค่าเงินบาท (เป็นเครื่องสะท้อนความถูกแพงของสินค้าส่งออกจากไทย)
จากนี้ไปจะลงทุนอย่างไร
นี่คือคำถามยอดฮิตของท่านที่โชคดีเพราะยังคงมีเงินให้ลงทุน
หากมองสั้นๆ แค่ไม่กี่เดือน ตอบได้ว่ากระแสเงินจากต่างประเทศที่ไหลเข้าออกในตลาดต่างๆ จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ของในตลาดนั้นๆ มีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานที่ดูไม่ดีเอาเสียเลย
ดังนั้น หากท่านสนใจหุ้น เพราะทนกับอัตราดอกเบี้ยที่โดนเหยียบจนแบนแต๊ดแต๋ไม่ไหวจริงๆ ก็เลือกลงทุนในตัวที่ดี ในราคาที่ถูกลงมามากๆ และต้องมั่นใจว่าเขาจะไปรอด แล้วถือยาวววววววววว ... ซึ่งต้องอ่านบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ที่ท่านเชื่อถือ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมในค่ายที่ท่านมั่นใจและเข้าใจวิธีการลงทุนของเขา
แต่หากกลัวหุ้น รับความผันผวนไม่ไหว จะไปตราสารหนี้ ก็ต้องทนได้กับอัตราผลตอบแทนกระจิดริด ... น้อยนิดจนเอานิ้วถ่างตาดูก็แทบมองไม่เห็นแล้ว ... และอย่าโลภ อย่ากระโดดเข้าไปหาตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ของบริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงโดยไม่รับรู้ถึงความเสี่ยง เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำอย่างนี่ เขาควรกู้แบงค์ได้ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่สูง … ถ้ารัฐบาลหรือ ธปท.ออกพันธบัตรอีกเมื่อไหร่ก็ให้รีบไปจองอย่างด่วน
เหนือสิ่งอื่นใด การกำหนดสัดส่วนลงทุนเฉพาะตนสำคัญที่สุด และเป็นการกระจายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์หลายกลุ่ม ช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวได้
ถ้าอายุมากแล้ว ควรลดความโลภ ลดสัดส่วนลงทุนในหุ้นลงให้เหมาะกับตนเอง หากลงทุนหุ้นแล้วเงินส่วนนั้นลงนานได้ไม่เกิน 7 ปี ก็ต้องยอมถอยเงินส่วนนั้นออกจากหุ้นไปเสียจะดีกว่า ยกเว้นท่านเป็นนักเก็งกำไรมือฉมังที่ยังไม่ตาย ... ล่าสุด ข้าพเจ้าลดสัดส่วนกองทุนหุ้นทั้งในประเทศและนอกประเทศลงเหลือประมาณ 10% และมีกองทุนทองคำประมาณ 10% โดยอีกประมาณ 80% ที่เหลือเป็นกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐที่ให้ผลตอบแทนไม่ถึง 1% ต่อปี ... ก็ต้องยอมทนเพราะอายุมากแล้ว
เพราะสำหรับคนอายุมากๆ ได้ผลตอบแทนน้อยนิด อาจจะดีกว่าขาดทุนจนเหลือไม่พอใช้ แต่ก็ต้องทำใจเวลาหุ้นขึ้น อย่าไปเสียดาย ต้องรู้จักเพียงพอ
แต่ถ้าอายุน้อย หรือมีเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีกว่าจะเกษียณ อันนี้ยังรับความเสี่ยงได้ อย่าทิ้งโอกาสในหุ้น ให้จัดสัดส่วน Portfolio การลงทุนของท่านให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของตนเองก็แล้วกัน
"อย่างไร" - Google News
July 02, 2020 at 07:22AM
https://ift.tt/3dTrrWd
เศรษฐกิจอย่างนี้จะลงทุนอย่างไร - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์เศรษฐกิจ-ธุรกิจ - โพสต์ทูเดย์
"อย่างไร" - Google News
https://ift.tt/3ctjMND
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เศรษฐกิจอย่างนี้จะลงทุนอย่างไร - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์เศรษฐกิจ-ธุรกิจ - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment