Search

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์น้ำมันอย่างไร - ประชาชาติธุรกิจ

jabaljuba.blogspot.com

คอลัมน์ มองข้ามชอต

ดร.ศิวาลัย ขันธะชวนะ ผจก.คลัสเตอร์พลังงาน EIC ธ.ไทยพาณิชย์

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในเดือนเมษายน 2020 ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง อุปสงค์น้ำมันโลกลดลงราว 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 30% ของความต้องการใช้น้ำมันทั้งหมดจากมาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศ ทำให้การเดินทางทั้งทางรถยนต์ เครื่องบิน และการขนส่งสินค้าลดน้อยลง ซึ่งความต้องการใช้น้ำมันยังต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดิมในปี 2019

โดยข้อมูลล่าสุดจาก EIA เมื่อ 9 มิถุนายน 2020 EIA ประเมินว่าอุปสงค์น้ำมันโลกเฉลี่ยทั้งปี 2020 จะอยู่ที่ราว 92.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (-8% YOY) และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นเป็น 99.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2021 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปี 2019 ก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งมีอุปสงค์น้ำมันโลกที่ 100.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง จะเป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้มีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ไม่ช้าก็เร็วอุปสงค์น้ำมันจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันอาจชะลอตัวลงกว่าในอดีตจากปัจจัยกดดันการใช้น้ำมัน ดังนี้

ในระยะสั้น พฤติกรรมการเดินทางของคนเปลี่ยนแปลงไปจากความกังวลของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ซึ่งหลังจากประเทศต่าง ๆ ได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ ความต้องการในการเดินทางจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ผู้คนเดินทางออกนอกบ้านไปทำงาน ไปมาหาสู่ระหว่างกัน เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แต่จะยังคงหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น

ยกตัวอย่างประเทศจีน ซึ่งมีการคลายล็อกดาวน์ก่อนประเทศอื่นในช่วงวันหยุดยาว เช่น เทศกาล Chiang Ming (4-6 เมษายน 2020) จำนวนคนที่มีการเดินทางเยี่ยมเยือนภายในประเทศ (domestic visitation) หดตัวถึง 61% YOY เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ถัดมา 1 เดือนวันหยุดยาวช่วงวันแรงงาน (1-5 พฤษภาคม 2020) ตัวเลขดังกล่าวดีขึ้นแต่ก็ยังหดตัว 41% YOY

จากข้อมูลของ Bloomberg ช่วงล็อกดาวน์ของจีนในเดือนมีนาคม อุปสงค์น้ำมันในจีนลดลง 23% เหลือ 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หลังปลดล็อกดาวน์อุปสงค์น้ำมันดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังหดตัว 5% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งจะมีคนบางส่วนที่เปลี่ยนวิธีเดินทางจากระบบขนส่งสาธารณะมาใช้รถยนต์ส่วนตัว

ทั้งนี้ ในเมืองใหญ่ของจีนตัวเลขความหนาแน่นของการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนฟื้นตัวกลับมาเท่ากับค่าเฉลี่ยในปี 2019 ขณะที่การเดินทางในชั่วโมงปกติที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วนยังน้อยกว่าเดิมอยู่มาก แสดงให้เห็นว่าผู้คนออกมาทำงานแต่ยังเลี่ยงกิจกรรมอื่น ๆ อยู่

ในระยะยาวแล้วลักษณะการทำงานในอนาคตอาจเป็นรูปแบบทางไกลมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะกดดันความต้องการใช้น้ำมันโดยคนทำงานส่วนหนึ่งมีความต้องการทำงานที่บ้าน ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่าหรือดีกว่าการทำงานที่ออฟฟิศ

ตัวอย่างผลสำรวจพนักงาน full time ในสหรัฐมากกว่า 1,200 คน โดย getAbstract พบว่าพนักงานเกือบ 43% ยังคงต้องการทำงานที่บ้านหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง และพนักงาน 20% กล่าวว่า นายจ้างพวกเขาได้มีการพูดคุยถึงทางเลือกของการทำงานที่บ้านในอนาคต ทั้งนี้ ต้องจับตามองกันต่อไปว่าในอนาคตสัดส่วนคนทำงานที่บ้านจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ การเดินทางเพื่อธุรกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากประสบการณ์ทำงานที่ดีผ่านทางออนไลน์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มเปลี่ยนการประชุมกับสาขา ลูกค้า supplier ทั้งในและต่างประเทศมาเป็นรูปแบบ video conference มากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปพบปะกัน สอดคล้องกับความพยายามของบริษัทในการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ซึ่งจากข้อมูลของ Spirit Airlines และ Forbes จำนวนการเดินทางเพื่อธุรกิจในอนาคตคาดว่าจะหายไปราว 5-10%

สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 บริษัทน้ำมัน BP เคยประเมินว่าในช่วงปี 2017-2040 การใช้น้ำมันอากาศยาน (jet fuel) ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เกือบ 10% ของอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด จะมีอัตราการเติบโตมากที่สุดเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่น ๆ จากการขยายตัวของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งการพัฒนาเครื่องบินไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่ทดแทนน้ำมัน jet ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากแบตเตอรี่สำหรับเครื่องบินยังมีน้ำหนักมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 กลับกลายเป็นว่าน้ำมัน jet ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด จากมาตรการปิดประเทศ สายการบินต่าง ๆ ต้องลดจำนวนหรือยกเลิกเที่ยวบิน เครื่องบินของสายการบินยักษ์ใหญ่ราว 50-75% ถูกจอดเอาไว้เฉย ๆ โดยในเดือนเมษายน 2020 การใช้น้ำมัน jet ทั่วโลกลดลงเหลือ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือหดตัวถึง 64% YOY สำหรับไทยการใช้น้ำมัน jet ลดลงถึง 89% YOY เหลือ 2 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าความต้องการใช้น้ำมัน jet จะฟื้นตัวช้าที่สุด ซึ่ง CEO บริษัท Boeing กล่าวว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินจะยังไม่กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2019

ระยะยาว นอกจากพฤติกรรมการเดินทางโดยเครื่องบินที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยวส่วนตัวและในเชิงธุรกิจแล้ว สายการบินที่เผชิญวิกฤตอย่างสาหัสจะต้องลดต้นทุน การซื้อเครื่องบินใหม่ในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะลดลง 40% เทียบกับที่เคยวางแผนไว้ และมีการปลดระวางเครื่องบินจำนวนมากซึ่งจะเป็นเครื่องบินเก่าที่กินน้ำมันมาก ในอนาคตเครื่องบินที่ใช้จะเป็นรุ่นประหยัดน้ำมันมากขึ้น ซึ่งจะกดดันต่ออุปสงค์ของน้ำมัน jet ในอนาคต

นอกจากนี้ จากบทเรียน supply chain ทั่วโลกเกิดการหยุดชะงักในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศ new normal ของ supply chain จะถูกปรับให้สั้นลง ใช้วัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางในประเทศมากขึ้น ลดการพึ่งพาการผลิตแบบกระจายฐานการผลิตหลายประเทศให้มาอยู่ประเทศเดียว

เช่น ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตกลับไปประเทศแม่ หรือนิสสันย้ายฐานการผลิตมาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งเดียวรองรับตลาดอาเซียน ซึ่งจะกดดันความต้องการใช้น้ำมันดีเซล และน้ำมันสำหรับเดินเรือ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนการใช้น้ำมัน เช่น ความกังวลเรื่องเชื้อโรคทำให้คนเปลี่ยนวิธีเดินทางจากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะมาเป็นรถยนต์ส่วนตัว นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันดิบตกอย่างรุนแรงและอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันของพลังงานทางเลือกและรถยนต์ไฟฟ้าลดลง ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะมีผลแค่ในระยะสั้น หากมองไปในระยะยาวแล้วนโยบายของประเทศต่าง ๆ ยังคงมุ่งไปสู่การลดการใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อลดสภาวะโลกร้อนเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

เมื่อความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจไม่เติบโตสูงได้เหมือนแต่ก่อน และอาจจะมาถึงจุดสูงสุด (peak oil demand) แล้วค่อย ๆ ลดลง ซึ่งตามการประเมินของบริษัทน้ำมันและสำนักวิเคราะห์ เช่น BP, Shell, IEA และ McKinsey คาดว่า peak oil demand จะเกิดขึ้นราวทศวรรษ 2030-2040

ดังนั้น บริษัทน้ำมันต่าง ๆ มีแนวโน้มเร่งเปลี่ยนผ่านจากการเป็นบริษัท “น้ำมัน” ให้เป็นบริษัท “พลังงาน” ซึ่งจะเห็นเทรนด์ของบริษัทน้ำมันที่ปรับกลยุทธ์ไปลงทุนในพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และ startup ที่เกี่ยวกับพลังงาน รวมถึงการทำ vertical integration ไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากขึ้น

Let's block ads! (Why?)



"อย่างไร" - Google News
June 27, 2020 at 10:49AM
https://ift.tt/2NwBfKT

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์น้ำมันอย่างไร - ประชาชาติธุรกิจ
"อย่างไร" - Google News
https://ift.tt/3ctjMND


Bagikan Berita Ini

0 Response to "วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์น้ำมันอย่างไร - ประชาชาติธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.